ประวัติการก่อตั้งโรงเรียนเสม็ดจวนวิทยาคม
โรงเรียนเสม็ดจวนวิทยาคมเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการพิจารณาจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบล ประกอบด้วยนายอำเภอ ศึกษาธิการอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยมีนายสนั่น พลรัฐธนาสิทธิ์ อาจารย์ 1 โรงเรียนทุ่งใหญ่วิทยาคม เป็นเลขานุการได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่กรมป่าไม้ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโครงการสถาบันจุฬาภรณ์ จนได้รับอนุญาตจากองค์ประธาน
พ.ศ 2538 กระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้งโรงเรียนเสม็ดจวนวิทยาคมเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2538 เปิดรับนักเรียนทำการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยมีนายสนั่น พลรัฐธนาสิทธิ์ รักษาการตำแหน่งครูใหญ่ ใช้อาคารชั่วคราว หลังคามุงจากเป็นอาคารเรียนมีครูผู้สอนจำนวน 6 คน
พ.ศ2539 โรงเรียนเปิดใช้อาคารชุดเบ็ดเสร็จ กขค. พร้อมอาคารประกอบ
พ.ศ 2541 กรมสามัญศึกษาได้อนุมัติให้เปิดทำการเรียนการสอนหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย
โรงเรียนเสม็ดจวนวิทยาคม ตั้งอยู่ในเขตที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบลกุแหระ รับนักเรียนในตำบลกุแหระ และพื้นที่ข้างเคียงได้แก่ ตำบลสินปูน ตำบลโคกหาร อำเภอเขาพนม ตำบลลำทับ ตำบลสินอุดม อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ ตำบลกรุงหยัน ตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ปัจจุบันโรงเรียนเสม็ดจวนวิทยาคม ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 7 ตำบลกุแหระ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช รหัสไปรษณีย์ 80240 ติดกับถนนสายทุ่งใหญ่ – ลำทับ ( สาย 4038 ) ตำแหน่งหลักกิโลเมตรที่ 13 – 14 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 12 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูลสภาพชุมชนโดยรวม
1) สภาพชุมชนรอบบริเวณโรงเรียน
ตำบลกุแหระมีชุมชนตามเขตปกครอง 8 หมู่บ้าน บริหารโดยองค์การบริหารส่วนตำบลกุแหระ มีชุมชนดั้งเดิมคือ บ้านคงคาเลียบ บ้านบ่อโหด บ้านควนประชาสรรค์ บ้านสองแพรก บ้านเสม็ดจวน ชุมชนเกิดใหม่คือ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 3 หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 4 อาชีพหลักของชุมชนคือ ทำสวนยางพารา สวนปาล์ม รับจ้างและปลูกพืชไร่ ประชาชนภายในหมู่บ้านเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงส่งบุตรหลานเข้าเรียนในระบบโรงเรียน โดยมีอัตราการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลายค่อนข้างสูง และยังมีผู้ที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับบางส่วนที่ออกไปประกอบอาชีพ
2) การศึกษาของผู้ปกครอง
ผู้ปกครองส่วนใหญ่จบการศึกษา ระดับประถมศึกษาประกอบอาชีพเกษตรกรรม (คิดเป็นร้อยละ) ร้อยละ 98 นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 90 นับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ 5 และนับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 5 ฐานะทางเศรษฐกิจ / รายได้โดยเฉลี่ย ต่อครอบครัว ต่อเดือน 10,000 บาท จำนวนคนเฉลี่ยต่อครอบครัว 5 คน
3) โอกาสและข้อจำกัดของโรงเรียน
โอกาส โรงเรียนได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ปกครองในระดับสูง ส่งผลดีต่อการระดมสรรพกำลังในการจัดการศึกษา มีแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้และสะดวก เช่น วัดเสม็ดจวน สถานีประมงน้ำจืดนครศรีธรรมราช ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 3 และ อ่างเก็บน้ำเสม็ดจวน
ข้อจำกัด ค่านิยมที่เปลี่ยนไปของสังคมที่ให้คุณค่ากับวัตถุ ยศ ตำแหน่งอันเป็นที่เชิดหน้าชูตาในสังคม ทรัพย์สิน เงินทอง โดยไม่สนใจวิธีการที่ได้มาถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ทำให้นักเรียนส่วนหนึ่งไม่ใส่ใจปฏิบัติตนตามระเบียบ ศีลธรรมจรรยาอันดีงามในการเรียนรู้ การคบหาเพื่อนต่างเพศและมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ความห่างเหินของผู้ปกครองกับนักเรียนบนกระแสความเปลี่ยนแปลงรอบด้าน การใช้เทคโนโลยีในทางที่ไม่เหมาะสม การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดของเยาวชนและกฎหมายอื่น ๆ ที่หย่อนทำให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากเยาวชนโดยเฉพาะปัญหาสิ่งเสพติด ตลอดจนการออกกฎหมายจำกัดสิทธิของชุมชนในการจัดการทุน เช่น พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทำให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดจนนำไปสู่ระเบียบปฏิบัติกระทรวงมหาดไทยไม่ให้องค์การบริหารส่วนตำบลจ่ายเงินอุดหนุนการศึกษาแก่โรงเรียน ทั้งที่โรงเรียน คือ แหล่งก้าวนำทางความคิด จิตวิญญาณของชุมชน ทั้งสนับสนุนช่วยเหลือกิจการของมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาโดยตลอด ทุกประเด็นปัญหาเหล่านี้ล้วนมาจากธุรกิจการเมือง จนนำไปสู่ความอ่อนแอของธรรมาธิปไตย
อาณาเขตของโรงเรียนเสม็ดจวนวิทยาคม
ทิศเหนือ จดสวนป่าหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 4
ทิศใต้ จดถนนสวนป่าหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 4
ทิศตะวันออก จดถนนทุ่งใหญ่ – ลำทับ
ทิศตะวันตก จดสวนป่าหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 4
เนื้อที่ของโรงเรียน
โรงเรียนมีเนื้อที่ 99 ไร่ 9 ตารางวา